เมื่อพี่จีนถือนวัตกรรมล้มยักษ์เดินเข้ามาในไทย เราจะรอดไหม?
มันเริ่มมาจากทุกๆวันศุกร์เด็กๆในครอบครัวผมและเพื่อนร่วมชั้นจะพากันไปห้างสรรพสินค้าเพื่อกินไอสกรีม ซึ่งก็เสียหลักร้อยมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โอกาส แต่ปีที่ผ่านมาแม้ร้านไอสกรีมร้านนั้นยังตั้งอยู่ที่เดิมแต่รู้ตัวอีกทีเด็กๆและกลุ่มเพื่อนของพวกเขาก็ไม่ได้ไปกันนานแล้ว หรือถ้าคุณขับรถผ่่านแถวๆ เส้นเกษตร นวมินทร์ ตรงก่่อนถึงchocolate ville ถนนสองด้านจะมีรถกระบะขายมะพร้าวทั้งสองด้าน โดยไม่รู้ตัวผมก็ไม่ได้มีโอกาสได้รับของฝากจากร้านใกล้บ้านพวกนี้นานแล้วอีกเหมือนกันพึ่งนึกออกเลย
กลับมาที่ไอสกรีมนั้นเด็กๆเลือก แบรนด์ตัวย่อ M จากจีนเพราะราคาแค่ 15 บาทพวกเขาสามารถเลือกเมนูอื่นๆเพิ่มได้อีกเช่น น้ำมะนาว และที่สำคัญคือแทนที่เขาจะได้กินแค่วันศุกร์ เขาสามารถกินทุกวันก็ได้ถ้าต้องการ และน้ำมะพร้าวมีร้านเปิดใหม่(ร้านนี้ของคนไทย)ราคาไม่หนีจากเดิมแต่แทนที่ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ดูทันสมัยและมีเครื่องปั่นน้ำและเนื้อมะพร้าวเข้าด้วยกันเสียละเอียดในระดับที่เครื่องปั่นตามบ้านทำไม่ได้ อร่อยมาก
.....เหตุการณ์เหล่านี้คือกรณีที่คู่แข่งที่เข้ามาตั้งใจนำสินค้าใหม่ๆมาล้มยักษ์เจ้าถิ่น(Disrupt) สินค้าเดิมโคยตรง หรือเรียกว่า Disruptive Innovation
ทฤษฎี Disruptive Innovation ถูกเผยแพร่โดย Clayton Christensen ศาสตราจารย์จาก Harvard Business School ซึ่งอธิบายถึงวิธีที่นวัตกรรมใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดทั้งตลาดและทำให้ธุรกิจที่เคยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาจต้องล่มสลาย
หลักการสำคัญของ Disruptive Innovation
เริ่มจากตลาดที่ยังไม่ได้รับความสนใจ นวัตกรรมที่ "Disrupt" จะไม่ได้เริ่มต้นจากการแย่งลูกค้าของผู้นำตลาดเดิมโดยตรง แต่จะเริ่มจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับการบริการที่ดีจากผลิตภัณฑ์เดิม
ผลิตภัณฑ์เริ่มต้นมักจะดูด้อยกว่าผลิตภัณฑ์เดิม สินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากการ Disrupt มักจะมีคุณสมบัติที่เรียบง่าย ราคาถูก และประสิทธิภาพอาจดูต่ำกว่าสินค้าหลักในตลาด แต่กลับเหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ต้องการสินค้าที่ง่ายขึ้นและราคาถูก
การเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจใหม่เริ่มพัฒนาและปรับตัวจนดีพอ มันจะเริ่มดึงดูดลูกค้าจากตลาดหลัก ในที่สุด องค์กรเดิมที่ครองตลาดอยู่จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปโดยไม่ทันตั้งตัว
ที่น่าเป็นห่วงคือ Disruptive Innovation หรือ นวัตกรรมล้มยักษ์ ปรกติเราจะได้เห็นแต่บริษัทเล็กๆทุนน้อยใช้เพื่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อให้ตัวเองรอด แต่ ณ ตอนนี้บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนกำลังใช้มันเป็นวงกว้างทั่วไทย
ทำไม ธุรกิจจีนถึง Disrupt ธุรกิจไทยได้?
ราคาเข้าถึงง่าย – ไอศกรีมและเครื่องดื่มของกิจการที่กล่าวข้างต้น มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับแบรนด์ไทยที่ต้องเผชิญกับต้นทุนสูงจากวัตถุดิบและค่าแรง
ต้นทุนต่ำ โมเดลธุรกิจแข็งแกร่ง – กิจการที่กล่าวข้างต้น ใช้โมเดลแฟรนไชส์ต้นทุนต่ำและซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพจากจีน ทำให้สามารถลดต้นทุนและขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
สร้างพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ – ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งในประเทศ ผู้บริโภคไทยจึงเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อจากร้านค้าท้องถิ่นไปยังร้านที่มีราคาต่ำกว่า แม้จะเป็นธุรกิจต่างชาติ
ซ้ำร้ายถ้ากำลังมองว่าเจ้าถิ่นอย่างคนไทยแข็งแกร่งพอจะทนไหวกันไหม? ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเรา การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในปัจจุบันนั้นยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ผู้ให้สินเชื่อมีเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น ทำให้หลายคนไม่สามารถขยายกิจการหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้ ในขณะที่เราต่างดิ้นรนหาทางสู้ กลับมีคู่แข่งรายใหญ่จากประเทศจีนเดินเข้ามาในตลาดไทยอย่างสง่างาม เพราะปริมาณเงินทุนเขาค่อนข้างเยอะมาก
แล้วผู้ประกอบการไทยจะรอดไหม? รอดนะผมว่าแม้คำถามนี้ผมเชื่อว่าอยู่ในใจของผู้ประกอบการไทยหลายคนแต่ผมอยากจะบอกว่า เราไม่ควรมองว่านี่คือโอกาสให้เราได้ปรับปรุงกิจการตัวเองอาจเป็นการปรับตัวครั้งที่ต้องทำการบ้านหนัก เริ่มจากการศึกษาวิธีการทำงานของคู่แข่ง วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองเท่าที่สังเกตุหลายร้านที่เป็นธุรกิจเล็กๆก็ทำเมนูราคาถูกพวกนี้ตามมาอวดใน tiktok ผมว่าเป็นการปรับตัวเบื้องต้นที่ก็ใช้ได้เลยอยู่นะ
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากถึงผู้ประกอบการไทยทุกคนว่า อย่าท้อ อย่ายอมแพ้ คนไทยเรามีจุดแข็งของเราเอง ขอเพียงแค่เราเชื่อมั่นและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าคนไทยเราจะสามารถยืนหยัดและฟันฝ่าไปได้ครับ
#ธุรกิจไทย #Startupไทย #SMEsไทย #สินเชื่อธุรกิจ